ค้นพบ สาร นาโนซิงค์ออกไซด์ พิชิตโรคแคงเกอร์ และ ทำให้มะนาวผลดก
จากการวิจัยของ
วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับศูนย์การวิจัยนาโนเทคโนโลยี
เพื่อการเกษตร อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้วิจัยหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว
ให้สามารถที่จะเรียนรู้วิธีการปลูกมะนาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ในที่สุดก็ ค้นพบอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ที่เมื่อนำมาฉีดพ่นที่ต้นมะนาว จะทำให้ผลดกขึ้น
20% ผลมะนาวกลมใหญ่ ผิวเขียวเป็นมันเงา
ผลการทดลองไม่พบรอยจุดนูนสีน้ำตาลตามผล
และไม่ถูกทำร้ายจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์ในมะนาวอีกด้วย
แถมยังช่วยประหยัดต้นทุนถึง 75%
โดยทาง
ศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า
จากการที่ราคาผลมะนาวในท้องตลาด มีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง
ที่ผลมะนาวมีราคาที่ผลละ 7-10 บาท เนื่องจากในช่วงหน้าแล้งมีอากาศร้อน
แห้งแล้ง เกษตรกรไม่สามารถปลูกมะนาวและได้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด
แต่พอเข้าหน้าฝน ต้นมะนาวก็จะถูกรบกวนจากโรคแคงเกอร์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ทำให้ผลผลิตมะนาวมีลดลง รวมถึงต้นทุนการผลิตสูง ทางวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีฯ จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร
อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
เพื่อคิดค้นและวิจัยแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเรียนรู้วิธีการปลูกมะนาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุดสามารถคิดค้นอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ที่ใช้กับต้นมะนาวได้สำเร็จ
จากนั้นนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ในการฉีดพ่นที่ต้นมะนาวในอัตราส่วน
50 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร โดยมีระยะเวลาในการฉีดพ่นทุก 10-15 วันต่อครั้ง
พบว่า เมื่อใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์สามารถทำให้ผลมะนาวที่ได้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
ผลมะนาวมีลักษณะกลมสวย ผิวเขียวเป็นมันเงา ไม่พบรอยจุดนูนสีน้ำตาลตามผล และไม่ถูกทำร้ายจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์ในมะนาวอีกต่อไป
รวมถึงผลผลิตที่ได้มีปริมาณมากกว่าที่ไม่ได้ใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ถึง 20%
นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนในการปลูกมะนาวของเกษตรกร ยังลดลงอีกด้วย
เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีหลากหลายชนิด เพื่อใช้ในการป้องกัน และกำจัดโรค
รวมถึงแมลงศัตรูพืช โดยสารเคมีที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสารเขียว หรือก็คือสารประกอบของทองแดง
โดยเป็นสารเคมีที่นิยมกันมากในสวนมะนาว
แต่สารเคมีประเภทนี้เป็นสารเคมีที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
หลังจากเกษตรกรเปลี่ยนมาใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ฉีดพ่นแทนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเหล่านี้อีกต่อไป
ทำให้ลดต้นทุนลงได้ และยังได้ผลมะนาวที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย