วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การกำจัดวัชพืช ให้ต้นมะนาว

การกำจัดวัชพืช ให้ต้นมะนาว

วัชพืชที่ขึ้นอยู่ในสวนมะนาว นอกจากจะเป็นตัวแย่งน้ำแย่งอาหารจากต้นมะนาวแล้ว ยังทำให้สวนมะนาวรกรุงรัง เป็นที่อยู่อาศัยของโรค และแมลงศัตรูพืชต่างๆ บางครั้งก็ขึ้นรกตามโคนต้นมะนาวทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้น เกิดความชื้นมาก และเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย ในสวนมะนาวจึงไม่ควรปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นรกรุงรัง เพราะวัชพืชเหล่านี้จะป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา วัชพืชที่ขึ้นในสวนก็จะมีแตกต่างกันออกไป บางชนิดมีอายุยืนหลายปี บางชนิดมีช่วงอายุการเจริญเพียง 2-3 เดือน ในการกำจัดวัชพืชก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสวนแต่ละแห่ง

การกำจัดวัชพืชในสวนมะนาวทำได้หลากหลายวิธี เช่น การถอน ถากถาง หรือ การใช้เครื่องตัดหญ้าแบบต่างๆ แต่ถ้าเป็นในสวนมะนาวใหญ่ๆ จะนิยมใช้เครื่องตัดหญ้าช่วยผ่อนแรง มีทั้งเครื่องตัดแบบติดเครื่งอยนต์สะพายไหล่ และแบบรถตัดหญ้าล้อจักรยาน หรือสวนมะนาวในที่ดอนอาจจะใช้เครื่องตัดหญ้าแบบพ่วงท้ายรถแทรคเตอร์ ซึ่งก็ให้ผลดีและประหยัดแรงงานได้มาก แต่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีเหล่านี้จะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลตามโคนต้นมะนาว หรือกระทบกระเทือนถึงระบบราก หรือตามกิ่งมะนาว ที่อยู่ต่ำๆ ติดดิน เพราะจะทำให้เชื้อโรคและแมลง เข้าทำลายได้ง่าย

การตัดหญ้าหรือวัชพืชควรที่จะกำจัดออกให้หมด หรือเหลือไว้ในระดับเตี้ยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสวน บางสวนเอาหญ้าออกจนเหลือแต่ดินโล่งๆ บางแห่งจะตัดออกเฉพาะส่วนที่อยู่สูงๆ เหลือตอไว้คลุมดินเพื่อป้องกันการพังทะลายของหน้าดิน หญ้าหรือเศษวัชพืชที่ตัดออกนั้น บางครั้งก็นำมาใช้ประโยชน์ได้โดยเอาคลุมโคนรอบๆ ต้นมะนาวช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป้องกันดินแห้งเร็วโดยไม่ต้องคอยรดน้ำบ่อยๆ และเมื่อวัชพืชเหล่านี้เน่าเปื่อยก็จะกลายเป็นปุ๋ยช่วยบำรุงดินต่อไปได้อีก อย่างไรก็ตามการใช้วัชพืชคลุมโคนต้นมะนาวนั้น ไม่ควรที่จะคลุมให้สุมโคนต้นหรือชิดต้น แต่ควรที่จะวันระยะห่างจากโคนต้นออกมาพอสมควร เพราะต้นมะนาวที่ปลูกโดยทั่วๆไปนั้นมีโรคทางดินรบกวนอยู่เสมอ หากใช้วัชพืชสุมโคนต้นมะนาวหรือคลุมติดโคนต้นมากเกินไป จะทำให้โคนต้นชื้นแฉะทำให้เกิดโรคทางดินต่างๆ เช่นโรครากเน่า ในต้นมะนาวได้ง่าย

วิธีกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากในสวนมะนาวคือ การกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมี หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ยาฆ่าหญ้า ซึ่งการใช้สารเคมีพวกนี้ต้อมีความรู้ความเข้าใจ ในวิธีการใช้ และรู้จักสารเคมีกำจัดวัชพืชนั้นๆเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ต้นมะนาวขึ้นได้ ชนิดของสารเคมีที่ใช้กันทั่วๆไปมากมาย เช่น พาราขวิท, โกลโฟเสท เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นสารจำพวกที่ทำให้ส่วนสีเขียวของวัชพืชแห้งตาย เมื่อฉีดเข้าไปแล้วหญ้าต่างๆ จะใบเหลืองแห้งตายไป ซึ่งสารพวกนี้ถ้าปลิวไปถูกต้นมะนาวก็อาจจะทำให้ต้นมะนาวเกิดอันตรายได้เช่นกัน เช่นทำให้ใบไหม้เหลืองเป็นจุดๆ หรือไหม้ทั้งใบหากถูกกับยามากๆ เนื้อใบเป็นแผลยุบตัว ของแผลฉ่ำน้ำมีสีเขียว หรือสีเขียวอมน้ำตาล การใช้สารเคมีพวกนี้จึงควรที่จะใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น ฉีดพ่นตอนลมสงบ อย่าฉีดสูง และที่พบได้บ่อยก็คือ เมื่อใช้เครื่องฉีดพ่นแล้วลืมล้างหรือล้างเครื่องพ่นไม่สะอาด เมื่อนำเครื่องไปฉีดพ่นยาฆ่าแมลงจะทำให้ต้นมะนาวเสียหายได้ทั้งต้น

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีการทำให้มะนาวออกผล ฤดูแล้งแบบง่าย



การทำให้ต้นมะนาวมีการผลัดใบ เพื่อการแตกยอดใหม่และออกดอกนั้น เป็นวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอก ออกผลในฤดูแล้ง ซึ่งเราสามารถที่จะทำได้ 3 วิธี ง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ต้นมะนาวออกผลนอกฤดู


1. งดการให้น้ำแก่ต้นมะนาว ระยะหนึ่งจนกระทั่ง ต้นมะนาวมีใบเหี่ยวและเหลื่องพอประมาณ จากนั้นจึงค่อยๆ ให้น้ำทีละน้อย และเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้น จนกระทั่งมะนาว ฟื้นจากอาการใบเหี่ยว ต่อจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยเร่งดอก สูตร 12-24-12 หรือ สูตร 9-27-27 หรือ อาจจะใช้ปุ๋ยธรรมชาติ เช่น กระดูกป่น มูลสัตว์ หรืออาจจะ โปแตสเซียมซัลเฟตใส่รอบๆ โคนต้นมะนาวก็ได้ ซึ่งจะทำให้ต้นมะนาว แตกดอกได้ดีขึ้น

2. งดการให้น้ำแก่ต้นมะนาว ประมาณ 7-15 วัน จากนั้นให้ทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้มะนาวแตกยอดอ่อนจากนั้นจึงใส่ปุ๋ยเร่งดอก

3. ให้ปุ๋ยบำรุงต้นมะนาวให้มีความสมบูรณ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ด้วยการให้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 จากนั้นให้งดให้น้ำแก่ต้นมะนาวประมาณ 1 เดือน หรือจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม พอเข้าสู่ เดือนกันยายน ให้ใส่ปุ๋ยเร่งดอกแก่ต้นมะนาว พอถึงเดือนตุลาคมก็เร่งบำรุงต้นมะนาวและผลให้สมบูรณ์ด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 (สูตรเสมอ) โดยช่วงกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน เราก็จะเก็บเกี่ยวผลมะนาวไปขายได้

หมายเหตุ ช่วงที่ต้นมะนาวแตกใบใหม่และเริ่มออกดอก เกษตรกรควรเอาใจใส่ บำรุง และ ป้องกันแมลง และศัตรูพืช ตัดแต่งกิ่งใบ และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมะนาวให้มีความสมบูรณ์

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การตอนกิ่งมะนาว

การตอนกิ่งมะนาว เป็นขั้นตอนการขยายพันธุ์ ที่นิยมใช้กันมานาน และเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในบรรดาชาวสวนมะนาว วิธีขยายพันธุ์มะนาวด้วยการตอนกิ่ง นั้นเป็นวิธีการขยายพันธุ์ ที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ในการตอนกิ่งที่รู้จักกันดีในแถบทวีปยุโรปซึ่งเรียกว่า การตอนทับกิ่ง หรือ การตอนกิ่ง แบบหุ้มกิ่ง ซึ่งในการตอนหุ้มกิ่ง นั้นก็มีหลายหลายวิธี เช่น แบบการทำให้ต้น หรือกิ่งพืชแตกราก ในขณะที่ยังติดอยู่กับลำต้น หลังจากกิ่งมะนาวแตกรากแล้วจึงตัดไปปลูกภายหลัง ฉะนั้นโอกาสของการที่กิ่งพืชสามารถรอดนั้น จะดีกว่าการวิธีการตัดชำ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ตรงที่ว่า จะทำให้ขยายพันธุ์ได้ช้ากว่ามาก ด้วยเหตุนี้ถ้าต้องการต้นพืชจำนวนมากๆ จึงไม่นิยมใช้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เว้นแต่ว่าต้นพืชนั้นจะขยายพันธุ์ไม่ได้ด้วยการตัดชำ หรือแตกรากได้ยากกว่า วิธีการตอนกิ่ง ส่วนการตอนกิ่งอีกแบบ คือการตอนกิ่ง แบบชาวจีน หรือแบบที่เราชาวไทยนิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการตอนกิ่งพืชประเภทไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งพืชจำพวกไม้ผล และไม้ประดับ เช่น มะนาว ลำไย ลิ้นจี่ ละมุด ส้มเขียวหวาน กุหลาบ ส้มโอ มะลิ เป็นต้น ส่วนวิธีการตอนนั้นปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้
ขั้นแรกเราจำเป็นต้อง เลือกกิ่งพันธุ์ หรือต้นมะนาวที่จะตอน จะต้องเป็นกิ่งที่ ไม่อ่อน และไม่แก่จนเกินไป มีใบดก และไม่มีโรคหรือแมลงศัตรูพืช ได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ โดยปกติมักจะเลือกกิ่งกระโดง นั้นเอง
ขั้นต่อมาคือ การทำแผลบนกิ่งพันธุ์ การทำแผลบนกิ่งมะนาว นั้นต้องเริ่มจากการควั่นให้เป็นแผล 2 รอยโดยแต่ละรอยจะห่างกันประมาณ 1.5 เซนติเมตร จากน้ำทำการลอกเปลือกของส่วนที่อยู่ระหว่ารอยแผลออก หากส่วนนั้นมีหนามก็ให้ทำการตัดหนามทิ้ง ส่วนการขูดผิวบางๆของรอยแผล เพื่อตัดระบบการส่งสำเลียงอาหาร มะนาวไม่จำเป็นต้องขูดออกเพราะมะนาวไม่ใช่พืชประเภทที่มียาง
จากนั้น ให้ทำการทาฮอร์โมนเร่งราก โดยให้ทาบริเวณที่ทำแผล หรือบริเวณที่กิ่งจะเกิดราก จะช่วยให้กิ่งมะนาวแตกรากดี คือ มีรากมากขึ้น และเจริญเติบโตได้เร็ว ซึ่งการทาฮอร์โมนปกตินั้น จะทาเฉพาะบริเวณที่จะเกิดรากเท่านั้น เช่น บริเวณที่เป็นรอยควั่นของแผลด้านบน โดยการตอนมะนาวนั้นฮอร์โมนเร่งรากแบบเข้มข้น เพราะมะนาวแตกรากได้ง่ายอยู่แล้ว และให้ผลการตอนที่ดีกว่าการใช้แบบเข้มข้น

จากนั้นให้ทำการหุ้มกิ่งตอน วัตถุที่จะใช้หุ้มกิ่งตอนอาจใช้วัตถุต่างๆ ได้หลายอย่าง แต่ที่แนะนำการนำขุยมะพร้าว โดยนำไปแช่น้ำพอหมาดๆ แล้วทำการบรรจุขุยมะพร้าว ในถุงพลาสติกขนาดเล็ก แล้วมัดปากให้แน่ด้วยเชือกฝางหรืออาจจะเป็นยางยืดก็ได้ โดยการหุ้มกิ่งนั้นให้ทำการผ่าถุงพลาสติกที่บรรจุขุยมะพร้าว จากนั้นนำถุงอัดขุยมะพร้าวมาทำการหุ้มตรงรอยที่เกิดจากการควั่น ทาฮอโมนเร่งรากแล้ว แล้วให้ทำการมัดด้วยเชือกฟางด้านหัวและด้านท้ายของถุงอัดขุยมะพร้าวโดยไม่จำเป็นต้องมัดแน่นจนเกินไป เนื่องจากถ้ามัดแน่นจนเกินไปจะทำให้น้ำและความชื้นไหลออกทางรอยผ่า นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือรอยแผลผ่าของถุงที่บรรจุขุยมะพร้าวนั้น จะต้องหงานขึ้นด้านบนเสมอ เพื่อลดการสูญเสียน้ำและความชื้น และถ้มีฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะสามารถไหลเข้าไปข้างในได้ตามรอย

ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากตอนกิ่งตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วนั้น ประมาณ 12-21 วัน รากของมะนาวจะเริ่มออกมาให้เห็น แต่สำหรับกิ่งมะนาวที่เหมาะสมกับการตัดไปเพาะลงถุงดำ ควรเป็นกิ่งตอนที่มีอายุระหว่าง 21-28 วันจะเป็นช่วงที่ดีที่สุด

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีปลูกมะนาวนอกฤดู ในกระถางต้นไม้

อาจกล่าวได้ว่า ต้นมะนาวเป็นไม้ผลหรือจะเป็นพืชสวนครัวเดียว ที่มีความจำเป็นอย่างสูงและอยู่คู่กับการประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ของคนไทยมาอย่างยาวนาน ฤดูกาลที่มีผลมะนาวออกสู่ตลาดมากที่สุดก็คือช่วง เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนของทุกปี ส่งผลทำให้ช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมนั้น ผลมะนาวมีราคาที่แพงมากๆ เนื่องมาจากผลผลิตของมะนาวได้ออกมาน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ให้ทุนในการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับเทคนิคการปลูกมะนาวนอกฤดู โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ผลผลิต ของผลมะนาวมีเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศในช่วงที่มะนาวแพง และที่สำคัญกว่านั้นคือ การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว ให้มีรายได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย โดยทางเลขาธิการ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการเปิดเผยว่า สาเหตุที่มะนาวมีราคาสูงถึงลูกละ 8 บาท ถึง 10 บาทนั้น ว่าเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ทำให้มะนาวออกลูกได้น้อย และพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งยังได้รับผลกระทบเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ดังนั้น จึงต้องหาวิธีให้มีผลมะนาวออกจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อแก้ปัญหา มะนาวแพงให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงจะขอนำเทคนิคการ ผลิตผลมะนาวออกนอกฤดูในกระถาง ที่ทางการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ทุนส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัยแก่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ เลขาธิการ วช. ได้เปิดเผยต่อว่าอีกว่า การบังคับให้ต้นมะนาวออกลูกออกผล นอกฤดูทำได้หลายวิธี วิธีที่ง่ายและเหมาะสำหรับเกษตรกร ที่มีพื้นที่น้อยคือการปลูกมะนาวในกระถาง ซึ่งวิธีที่นิยมมากที่สุดคือการใช้กิ่งตอน ซึ่งจากการศึกษา พบว่า เมื่อปลูกมะนาวพันธุ์แป้นทวาย ในกระถางสามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่ต่างกับการปลูกลงดิน แต่ข้อสำคัญของการปลูกมะนาวในกระถางจะต้องตั้งกระถางไว้กลางแจ้งเพื่อให้ได้รับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน ในการที่จะบังคับให้ต้นมะนาวติดผลควรทำเมื่อปลูกมะนาวประมาณ 8-10 เดือน ตัดแต่งกิ่งแขนงและกิ่งที่มีโรค กิ่งที่ติดดอกและผลออกให้หมด จากนั้นงดให้น้ำในเดือนตุลาคมประมาณ 7-10 วัน เมื่อสังเกตเห็นใบมะนาวเหี่ยวหรือใบสลดและอาจมีใบร่วงบ้างให้เริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ปริมาณ 1 ช้อนแกงรอบๆ ขอบกระถาง และรดน้ำตามทันที หลังจาก 15 วัน มะนาวจะเริ่มแตกใบอ่อนและออกดอกเป็นสีขาว ช่วงนี้สามารถพ่นสมุนไพรน้ำส้มควันไม้หรือยาฆ่าแมลงอะบาเม็กตินผสมกับคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ เพื่อป้องกันโรคและแมลง หลังจากติดดอกแล้ว 4 เดือนก็สามารถเก็บผลมะนาวได้ ศ.นพ.สุทธิพร ยังอธิบายต่ออีกว่า การวิธีในการดูแลรักษามะนาวที่ปลูกใหม่ควรให้น้ำวันละหนึ่งครั้ง หลังจากปลูก 10-15 วัน ให้น้ำวันเว้นวัน เมื่อมะนาวตั้งตัวได้ให้ใช้เศษหญ้าหรือฟางคลุมโคนต้นไว้ 3 วันให้น้ำ 1 ครั้ง แต่ในช่วงมะนาวติดดอกออกผลต้องให้น้ำทุกวัน เพราะต้นมะนาวนั้นต้องการน้ำมาก การใส่ปุ๋ยให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 เดือนละครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนแกงแล้วรดน้ำตาม ช่วงก่อนออกดอกให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 1 ช้อนแกง หากดินในกระถางพร่องให้เติมมูลวัวที่ย่อยสลายแล้วเท่าระดับดินเดิมที่ใส่ไว้ ในการกำจัดวัชพืชต่างๆได้โดยใช้วิธีการถอนปกติ เมื่อมะนาวติดผลกิ่งอาจโน้มลงให้ทำนั่งร้านรอบกระถางเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักจากผลของมะนาว และควรที่จะตัดแต่งกิ่งเป็นประจำ เมื่อผลมะนาวเริ่มเป็นสีเขียวอ่อน ผิวเรียบบางใส ก็สามารถเก็บมารับประทานหรือจำหน่ายก็ได้ แค่นี้ก็สามารถรับมือกับราคามะนาวที่ขึ้นลงได้ตลอดทุกฤดูกาล แถมยังได้ผลมะนาวออกนอกฤดูในรูปไม้ประดับสวนที่กินได้ด้วย